Skip to main content

บังคลาเทศ: ชาวโรฮิงญาต้องประสบภัยจากน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม

ผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างรอโอกาสกลับไปเมียนมา ต้องการที่พักพิงที่ปลอดภัยกว่านี้

ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่คอกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ 19 กันยายน 2560 เคธัล แมคนอตัน (Cathal McNaughton) ช่างภาพรอยเตอร์บอกว่า “จำเป็นที่จะต้องทำให้คนเห็นขอบเขตของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ ผมต้องรอให้องค์ประกอบครบเสียก่อน รวมทั้งคนซึ่งอยู่มุมซ้ายล่างที่ถือร่มขณะที่ฝนตกในฤดูฝน ซึ่งบรรเทาปัญหาได้แค่ชั่วคราว”  © 2017 Reuters/Cathal McNaughton

(กรุงเทพฯ) –รัฐบาลบังคลาเทศควรอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายที่พักพิงขนาดมหึมาที่แออัดยัดเยียดมาก ไปยังพื้นที่ซึ่งปลอดภัยกว่าในคอกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ ผู้ลี้ภัยซึ่งหลบหนีจากปฏิบัติการของกองทัพพม่าเพื่อ การสังหารล้างเผ่าพันธุ์ ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ไม่ควรจะต้องมาเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม พวกเขาควรมีที่พักพิงที่มั่นคงกว่านี้ และสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเพียงพอหากต้องอาศัยอยู่ที่นี่ต่อไปในระยะยาว

รายงาน 68 หน้า “บังคลาเทศไม่ใช่ประเทศของฉัน: ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากเมียนมา” (‘Bangladesh Is Not My Country’: The Plight of Rohingya Refugees from Myanmar) เป็นผลจากการไปเยือนคอกซ์บาซาร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่าที่พักพิงขนาดใหญ่แห่งนี้มีสภาพแออัดยัดเยียดอย่างมาก โดยมีพื้นที่เฉลี่ยที่สามารถใช้งานได้เพียง 10.7 ตารางเมตรต่อคน เปรียบเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศซึ่งกำหนดไว้ที่ 45 ตารางเมตรต่อคน การอยู่กันอย่างหนาแน่นเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคระบาด เหตุเพลิงไหม้ ความตึงเครียดในชุมชน ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ ทางการบังคลาเทศควรอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปยังที่พักพิงที่มีขนาดเล็กกว่าและหนาแน่นน้อยกว่า ตั้งอยู่บนที่ราบที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงในเขตตำบลอูคียาซึ่งเป็นที่ตั้งของที่พักพิงในปัจจุบัน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“บังคลาเทศสมควรจะได้รับคำชมจากนานาชาติจากการยอมรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 700,000 คน แม้ว่าพวกเขายังมีสภาพที่ยากลำบาก” บิล เฟรลิค (Bill Frelick) ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิผู้ลี้ภัยของฮิวแมนไรท์วอทช์และผู้เขียนรายงานกล่าว “บังคลาเทศควรขึ้นทะเบียนชาวโรฮิงญาที่หลบหนีมาเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย ประกันให้พวกเขาได้รับบริการด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างเพียงพอ และให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพนอกที่พักพิงได้”

ชาวโรฮิงญาที่เพิ่งเดินทางมาถึง รวมทั้งอีก 200,000 คนที่ได้หลบหนีการประหัตประหารใน เมียนมาในรอบก่อนหน้านี้ อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในโลก หรือที่เรียกว่าค่ายกูตูปาลอง-บาลูคาลี (Kutupalong-Balukhali Expansion Camp) แม้มีความพยายามจากผู้ลี้ภัยและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่ช่วยจัดทำให้กระท่อมของพวกเขาแข็งแรงขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยขึ้น และมีการจัดทำแผนด้านความปลอดภัย แต่ที่พักพิงและผู้อาศัยอยู่เหล่านี้ยังคงเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะต้องประสบภัยเมื่อเกิดสภาวะภูมิอากาศที่เลวร้าย

เพื่อกดดันอย่างต่อเนื่องให้เมียนมายอมรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ให้กลับไปอยู่ในประเทศของตน ทางการบังคลาเทศยืนยันว่าค่ายแห่งนี้เป็นที่พักพิงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้สภาพของค่ายเลวร้าย เนื่องจากรัฐบาลปิดกั้นไม่ให้มีการก่อสร้างโครงสร้างถาวร รวมทั้งอาคารที่สามารถทนทานต่อพายุไซโคลน และไม่อนุญาตให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาว ส่วนโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาก็ยังมีไม่เพียงพอ

“ดิฉันต้องอยู่ด้วยความกลัวว่าแผ่นดินจะถล่ม” คุณแม่ลูกสี่อายุ 26 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมที่สร้างอยู่บนเนินเขาอันลาดชันบอก “ดิฉันต้องเอากระสอบทรายมายัดไว้ข้างกระท่อมตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้มันทรุดตัวลงไปตามเนินเขา ดิฉันอยากย้ายไปอยู่ในที่ซึ่งปลอดภัยกว่า ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา ไม่มีใครมาพูดคุยหรือเสนอให้มีการอพยพเลย”

การอพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากไปยังที่พักพิงซึ่งหนาแน่นน้อยกว่า มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และมีมาตรฐานด้านบริการที่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว อย่างไรก็ดี กระบวนการนี้ต้องเกิดขึ้นโดยผ่านการปรึกษาหารือและความยินยอมจากผู้ลี้ภัย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนพลัดถิ่นเหล่านี้ และเพื่อช่วยให้พวกเขายังสามารถติดต่อกับชุมชนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาโดยรวมต่อไปได้

กองทัพเรือบังคลาเทศและคนงานก่อสร้างจากจีน ได้จัดเตรียมพื้นที่เกาะภาซานชาร์ซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่ สำหรับเป็นที่รองรับผู้ลี้ภัยจากเขตคอกซ์บาซาร์ ในการตอบจดหมาย จากฮิวแมนไรท์วอทช์ กระทรวงการต่างประเทศบังคลาเทศระบุว่า เนื่องจากการดำรงอยู่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ “กำลังทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง” รัฐบาลจะเริ่มโยกย้ายชาวโรฮิงญา 100,000 คนไปยังเกาะภาซานชาร์ โดยจะสร้างเขื่อนรอบเกาะเพื่อป้องกันอันตรายจากน้ำที่สูงขึ้นและจากคลื่น อย่างไรก็ดี เกาะแห่งนี้ซึ่งประกอบไปด้วยป่าชายเลนและหญ้า ซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ำเมฆนาของบังคลาเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่ใช่สถานที่ซึ่งเหมาะสมต่อการรองรับผู้ลี้ภัย ผู้ชำนาญการพยากรณ์ว่าเกาะภาซานชาร์อาจจมอยู่ใต้น้ำได้ กรณีที่เกิดพายุไซโคลนลูกใหญ่ในช่วงน้ำขึ้นสูง

เด็กผู้ชายปีนขึ้นเนินสูงชันที่ค่ายชักมากุล สำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทางตอนใต้ของบังคลาเทศ กุมภาพันธ์ 2561. © 2018 Andrew RC Marshall/ Reuters
ในเกาะแห่งนี้น่าจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและบริการด้านสุขภาพน้อยมาก และมีโอกาสไม่มากนักในการประกอบอาชีพหรือการพึ่งตนเอง รัฐบาลไม่ได้แสดงพันธกิจที่จะยอมให้ผู้ลี้ภัยมีเสรีภาพในการเดินทางเข้าและออกจากเกาะภาซานชาร์ นอกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในเกาะภาซานชาร์แล้ว การนำผู้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่นี่ย่อมทำให้พวกเขาแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคม และขัดขวางไม่ให้พวกเขาตัดสินใจเดินทางไปที่อื่น ทำให้เกาะแห่งนี้มีสภาพเหมือนสถานที่ควบคุมตัวโดยปริยาย

เกาะภาซานชาร์ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวเพื่อการอพยพ ผู้ชำนาญการชี้ว่ายังมีพื้นที่อีกหกแห่งที่เป็นไปได้ในตำบลอูคียา ซึ่งมีพื้นที่รวมกันกว่า 3,250 ไร่ และสามารถรองรับประชาชนได้ 263,000 คน พื้นที่เหล่านี้มีความยาวรวมกันแปดกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของค่ายกูตูปาลอง-บาลูคาลีด้านที่ติดกับชายฝั่ง

กระทรวงการต่างประเทศบังคลาเทศ แถลงว่า แม้บังคลาเทศจะให้บริการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน “ทางออกสุดท้ายของปัญหาชาวโรฮิงญา อยู่ที่การช่วยให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้เดินทางกลับไปอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย มีศักดิ์ศรี เป็นการเดินทางกลับโดยสมัครใจและมีความยั่งยืน ทางกระทรวงระบุว่า ที่ผ่านมาได้เปิดให้ประชาชนใช้พื้นที่ป่าสงวนแล้วถึง 15,000 ไร่ และสืบเนื่องจากปัญหา “การขาดแคลนที่ดินให้กับประชาชนของตนเอง” รัฐบาลไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ที่ดินทางเลือกอื่นได้ โดยพวกเขาระบุว่ามีทางเลือกเดียวของการอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา คือการให้ไปอยู่ที่เกาะภาซานชาร์

รัฐบาลประเทศผู้ให้ทุนและองค์กรระหว่างรัฐบาล ควรมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังและเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนให้บังคลาเทศสามารถตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทุกคน โดยควรให้ทุนสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขวิกฤติด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวโรฮิงญา ทั้งยังจะต้องกดดันเมียนมาอย่างมีเอกภาพและอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการที่จำเป็น เพื่อการเดินทางกลับไปอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย มีศักดิ์ศรี เป็นการเดินทางกลับโดยสมัครใจและมีความยั่งยืนของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ผู้ลี้ภัยซึ่งให้สัมภาษณ์ฮิวแมนไรท์วอทช์ต่างกล่าวว่า พวกเขาต้องการกลับไปเมียนมา แต่จะกลับไปเมื่อมีสภาพเหมาะสมแก่การเดินทางกลับโดยสมัครใจ ซึ่งหมายถึงการได้รับสัญชาติ การยอมรับอัตลักษณ์ของชาวโรฮิงญา มีการไต่สวนให้เกิดความยุติธรรมต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ได้รับบ้านและทรัพย์สินของตนกลับคืนมา และมีคำสัญญาว่าจะมีความปลอดภัย สันติสุข และการเคารพสิทธิของพวกเขา

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country