Skip to main content

พม่า: นักโทษการเมืองเพิ่มจำนวนขึ้น

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2553 จะขาดความน่าเชื่อถือ ถ้าหากฝ่ายค้านยังคงถูกคุมขังอยู่

(วอชิงตัน ดีซี) - รายงานฉบับใหม่ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าได้จับกุมนักโทษการเมืองมากขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยนักโทษการเมืองมากกว่า 100 คนที่ถูกจับกุมในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้นได้ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลานาน เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเมื่อปี 2550 และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2551 ทั้งนี้จำนวนนักโทษการเมืองในปัจจุบันมีมากกว่า 2,200 คนแล้ว

รายงานความยาว 35 หน้า เรื่อง "นักโทษที่ถูกลืมของพม่า" (Burma's Forgotten Prisoners) แสดงเรื่องราวของนักกิจกรรมทางการเมือง พระภิกษุ นักกิจกรรมทางแรงงาน ผู้สื่อข่าว และศิลปินคนสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงอย่างสันติเมื่อปี 2550 บุคคลเหล่านี้ถูกจับกุม และการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมได้พิพากษาลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรงด้วยการจำคุก การเปิดตัวรายงานฉบับนี้ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ในงานแถลงข่าวที่รัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีวุฒิสมาชิกบาบารา บอกเซอร์เป็นเจ้าภาพ

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะผู้ปกครองประเทศของพม่าควรจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่า โดยทันที และไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากพวกเขาต้องการสร้างความน่างเชื่อถือให้กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2553

ทอม มาลินาวสกี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่า "บรรดานายพลของพม่ากำลังวางแผนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งปีหน้า มันจะเป็นเรื่องที่น่าอัปยศถ้าหากฝ่ายค้านยังคงถูกคุมขังอยู่ในคุก" "ถึงแม้เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และรัฐบาลต่างชาติได้เดินทางเยือนพม่าเพื่อส่งเสริมความปรองดอง แต่รัฐบาลทหารกลับยิ่งจับตัวผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พวกตนไปคุมขังมากขึ้น"

การเปิดตัวรายงานเรื่องนี้เป็นเริ่มการรณรงค์ระดับโลกที่มีชื่อว่า 2100 By 2010 ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2553

ทอม มาลินาวสกี กล่าวว่า "เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เราตั้งชื่อการรณรงค์ครั้งนี้ว่า 2100 By 2010 แต่หลังจากนั้น จำนวนนักโทษการเมืองได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,250 คน" "สหรัฐฯ จีน อินเดีย และเพื่อนบ้านของพม่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องทำให้การปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดทุกคนเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า โดยใช้อิทธิพล และอำนาจต่อรองทุกวิถีทางที่มีอยู่มาช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว"

ในจดหมายที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ดำเนินการทบทวนนโยบายต่อพม่าให้แล้วเสร็จ และขอให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินการทางการทูต การคว่ำบาตรทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น และการเพิ่มระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีความควบคุมตรวจสอบอย่างเหมาะสม

นักโทษการเมือง นักกิจกรรม และผู้ที่มีความกล้าหาญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการปกครองของรัฐบาลทหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนั้นถูกจับกุม และนำตัวไปคุมขังนานหลายปีอยู่เป็นประจำ โดยมีเรือนจำอยู่ 43 แห่งในพม่าที่ใช้คุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง และมีค่ายแรงงานอยู่มากกว่า 50 แห่ง ซึ่งนักโทษถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนัก

การกดขี่ทางการเมืองเพิ่มความรุนแรงขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลได้ปราบปรามเหตุการณ์ลุกฮือเมื่อเดือนสิงหาคม และกันยายน 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งมีพระภิกษุเป็นแกนนำ โดยมีการดำเนินคดีแบบปิด และการใช้ศาลที่อยู่ในเรือนจำไต่สวนอย่างไม่เป็นธรรม และพิพากษาลงโทษนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางแรงงาน ศิลปิน ผู้สื่อข่าว นักแสดงตลก บลอกเกอร์ พระภิกษุ และชีไปมากกว่า 300 คนให้ต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลานาน ซึ่งบางคนถูกพิพากษาให้จำคุกนานกว่า 100 ปี บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาภายใต้กฏหมายอาญาของพม่าที่ลงโทษการแสดงเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสันติ และการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวที่มีชื่อเสียงมากกว่า 20 คน รวมทั้งดาราตลกที่โด่งดังที่สุดของพม่า คือ ซาร์กานา ถูกจับกุม เนื่องจากไปวิพากษ์วิจารณ์อุปสรรคที่ขัดขวางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายหลังจากที่พายุไซโคลนนาร์กิสพัดเข้าใส่พม่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551   

ชาวโลกถูกเตือนให้รับรู้ถึงความโหดร้ายของรัฐบาลทหารอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่มีการจับกุม อองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยการไต่สวนพิจารณาคดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า และไม่เป็นธรรมได้พิพากษาลงโทษเธอเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่มีชาวอเมริกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของเธอ ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อองซาน ซูจี ซึ่งพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือกักบริเวณทีบ้านถึง 14 ปี   

ทอม มาลินาวสกี กล่าวว่า "การปล่อยตัวอองซาน ซูจีเป็นเรื่องสำคัญต่อสวัสดิภาพของเธอเอง และยังจะมีส่วนสนับสนุนกระบวนการที่ทำให้ฝ่ายค้านสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และกิจกรรมอื่นๆ ของสังคมพม่าได้อย่างเต็มที" "แต่อองซาน ซูจีไม่บุคคลเพียงผู้เดียวที่ต้องถูกลงโทษ เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของเธอ ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่สมควรได้รับความสนใจจากชาวโลกเช่นกัน เช่น ซาร์กานา ซึ่งถูกจำคุก เพราะวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบของพายุไซโคลนนาร์กิส หรือซู ซู นวย นักกิจกรรมสตรีที่มีความกล้าหาญ และมีบทบาทในการนำการชุมนุมประท้วง"

รายงานเรื่อง "นักโทษที่ถูกลืมของพม่า" กล่าวถึงเรื่องราวของนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงบุคคลดังต่อไปนี้

  • ซาร์กานา: เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ศาลร่างกุ้งได้ตัดสินให้ซาร์กานา ซึ่งเป็นดาราตลกที่มีชื่อเสียง และเป็นนักกิจกรรมด้านสังคม ต้องโทษจำคุกนาน 59 ปี (โดยต่อมาได้มีการลดโทษเหลือ 35 ปี) เนื่องจากเขาได้แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิส และยังได้พูดคุยกับสื่อมวลต่างชาติเกี่ยวกับความคับข้องใจของเขาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิส ซาร์กานาเคยถูกคุมขังนานหนึ่งปีภายหลังการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2531 และต่อมาก็ต้องโทษจำคุกนานสี่ปี ระหว่างปี 2533 ถึง 2537 เนื่องจากเขาไปกล่าวปราศรัยทางการเมือง ตำรวจจับกุมซาร์กานาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2550 จากการที่เขาให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อการชุมนุมประท้วงงของพระภิกษุ ซึ่งเขาถูกควบคุมตัวไว้นาน 20 วัน ซาร์กานาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเมืองมิจจินา ในรัฐคะฉิ่น ทางภาคเหนือของพม่า ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นอย่างมากในฤดูหนาว และยังอยู่ห่างไกลทำให้ญาติเดินทางไปเยี่ยมเขาได้ยาก มารดาของซาร์กานา คือ ดอว์ จี อู เสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ระหว่างที่เขายังอยู่ในเรือนจำ
  • อู กัมบิรา: เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 ทางการพม่าจับกุมอู กัมบิรา อายุ 28 ปี ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรพระภิกษุแห่งพม่าที่มีบทบบาทสำคัญในการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนกันยายน 2550 ในวันที่อุ กัมบิราถูกจับกุมนั้น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์บทความของเขา ซึ่งระบุว่า "การกวาดจับ การฆาตกรรม การทรมาน และการคุมขังที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ ไม่สามารถกำจัดความปรารถนาของพวกเราที่แสวงหาเสรีภาพ ซึ่งถูกโขมยไปเมื่อหลายปีมาแล้ว" เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 อู กัมบิรา ถูกพิพากษาจำคุกนาน 68 ปี (ต่อมามีการลดโทษเหลือ 63 ปี) ซึ่งรวมถึงการใช้แรงงานหนักนาน 12 ปี พี่ชายของเขา คือ ออง โค โค ลวิน ถูกจำคุกนาน 20 ปีที่เรือนจำคยุกเพียวในรัฐอารากัน เพราะช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อนตัวแก่อู กัมบิรา ส่วนพี่เขยของเขา คือ โม เฮต ลยัน ก็ถูกจำคุกเช่นกัน เนื่องจากมีส่วนช่วยเหลืออู กัมบิราระหว่างที่เขาถูกทางการติดตามตัว
  • ซู ซู นวย: เมื่อปี 2548 ซู ซู นวย นักกิจกรรมด้านแรงงาน เป็นบุคคลแรกที่ประสบความสำเร็จในการเอาผิดเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเรื่องการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พบทั่วไปในพม่า แต่ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ซู ซู นวย ซึ่งมีอาการโรคหัวใจ กลับถูกพิพากษาจำคุกนานหนึ่งปีครึ่งในข้อหา "ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามทางการ" เมีอปี 2549 เธอได้รับรางวัลสันติภาพจอห์น ฮัมฟรีขององค์การสิทธิมนุษยชนแคนาดา คือ องค์การไรท์แอนด์เดโมเครซี ซู ซู นวยถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ภายหลังจากที่ได้ไปนำการชุมนุมประท้วงในช่วงก่อนหน้านั้น และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2551 เธอถูกพิพากษาจำคุกนาน 12 ปีครึ่ง ในข้อหาทรยศต่อประเทศ และ "มีเจตนาสร้างความหวาดกลัว หรือก่อเหตุร้ายต่อสาธารณชน"

 

  • มิน โก เนียง: มิน โก เนียง เกิดเมื่อปี 2505 เขาเป็นอดีตประธานสหพันธ์นักศึกษาแห่งพม่า (เอบีเอฟเอสยู) และเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาในการชุมนุมประท้วง 8/8/88 เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 เขาถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงงหาคม 2532 และถูกพิพากษาจำคุกนาน 20 ปีในข้อหาปลุกปั่นให้เกิด "ความวุ่นวายในการบังคับใช้กฏหมาย และรักษาความสงบ" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 เขาได้รับการปล่อยตัวภายหลังจากที่ถูกจำคุกอยู่นาน 15 ปี แต่ภายหลังจากที่มิน โก เนียงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เขาก็ถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งพร้อมๆ กันกับบรรดาผู้นำนักศึกษากลุ่ม 8/8/88 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 มิน โก เนียงถูกพิพากษาจำคุกนาน 65 ปี โดยมีรายงานว่า เขาถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัว


องค์การฮิวแมนไรท์วอทชมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสุขภาพของนักโทษหลายคนที่ถูกคุมขงังอยู่ในสถานที่ที่ตั้งอยู่ห่างไกล ซึ่งมีมาตรฐานด้านระบบการแพทย์ และสุขอนามัยต่ำ รัฐบาลพม่าควรจะอนุญาตให้คณะกรรมธิการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี) เข้าเยี่ยมนักโทษในทันที เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขัง และยังควรจะยอมให้องค์การด้านมนุษยธรรมที่เป็นอิสระอื่นๆ สามารถเข้าถึงนักโทษด้วย  นอกจากนี้ รวมทั้ง รัฐบาลยังควรจะยุติการย้ายนักโทษไปคุมขังในสถานที่ห่างไกล ซึ่งสร้างภาระอย่างมากต่อสมาชิกครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นในการเดินทางไปเยี่ยม รวมทั้งการจัดหายา และอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ทอม มาลินาวสกี กล่าวว่า "แทนที่จะถูกลงโทษ และคุมขัง บุคคลอย่างเช่น ซาร์กานา อู กัมบิรา ซู ซู นวย และมิน โก เนียง ควรจะได้รับอนุญาตให้ช่วยเหลือประเทศของพวกเขา" "เมื่อเดินทางไปพม่า เจ้าหน้าที่ต่างชาติไม่ควรที่จะขอพบแค่อองซาน ซูจี แต่ควรจะขอพบนักกิจกรรมด้านการเมืองคนอื่นๆ ของพม่าที่อยู่ในเรือนจำ เพื่อรวบรวมความเห็นของบุคคลเหล่านั้น และยังเป็นการสนับสนุนงานที่กล้าหาญ และมีความสำคัญของพวกเขาด้วย"

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่มีความสำคัญนี้ มิตรของพม่า เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเชีย สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ ควรใช้อิทธิพลของตนในการกดดันให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าทั้งหมด โดยทันที และไม่มีเงื่อนไข

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.