Skip to main content

ประเทศไทย: ทางการสั่งปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ที่วิพากษ์วิจารณ์

ยุติการปิดกั้นสื่อ เสรีภาพในการแสดงออก

© 2020 Voice TV

(กรุงเทพฯ 21 ตุลาคม 2563) –การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีของรัฐบาลไทย ถือเป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยอย่างมิชอบเพื่อปิดกั้นสื่อ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้   

ในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศในระหว่างการแถลงข่าวว่า รัฐบาลได้รับคำสั่งจากศาลให้สั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ทีวี ทางกระทรวงกล่าวหาว่า การรายงานข่าวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 ตุลาคมของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ละเมิดมาตรการควบคุมสื่อ ที่ประกาศใช้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และละเมิดพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

“การสั่งปิดกั้นวอยซ์ทีวีเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลไทย เพื่อหาทางหยุดยั้งการรายงานข่าวเกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นการปฏิบัติมิชอบต่อผู้ประท้วง” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การปราบปรามครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างกว้างขวาง เพื่อกลั่นแกล้งและควบคุมสื่อให้กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล”

ในวันที่ 15 ตุลาคม ก่อนจะมีการสั่งปิดการแพร่ภาพทางออนไลน์ของสถานีแห่งนี้ ทางการไทยกดดันผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียม ให้ปิดกั้นการถ่ายทอดรายการของวอยซ์ทีวี นับแต่การทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลได้พุ่งเป้าโจมตีเพื่อปิดกั้นวอยซ์ทีวี และกำหนดมาตรการลงโทษสถานีแห่งนี้ มากกว่าสถานีโทรทัศน์อื่นใดในประเทศไทย

รัฐบาลยังได้ร้องขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นสื่อออนไลน์อีกสามแห่ง ได้แก่ The Reporters, The Standard และ ประชาไท ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้รับเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังหาทางปิดกั้นบัญชีเทเลแกรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

ในวันที่ 15 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ องค์การสหประชาชาติ, องค์กรสิทธิมนุษยชนของไทย และฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย

พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจทางการในการปิดกั้นอย่างกว้างขวาง ละเมิดสิทธิที่จะสามารถแสดงออกได้อย่างเสรีและเสรีภาพสื่อ ในวันที่ 16 ตุลาคม ตำรวจได้ แจ้งเตือนหลายครั้ง เกี่ยวกับรายงานข่าวและการให้ความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ มีการประกาศว่าการไลฟ์เพื่อรายงานสดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการโพสต์ภาพเซลฟี่ในที่ชุมนุม

ในวันดังกล่าว ตำรวจจับกุมนายนายกิตติ พันธภาค นักข่าวประชาไท ระหว่างที่เขารายงานสดการใช้กำลังตำรวจเพื่อสลายการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ทรูวิชันส์ได้รับสิทธิถ่ายทอดรายการทางเคเบิลทีวีจาก BBC World Service, CNN และ Al Jazeera English แต่กลับปิดกั้นการรายงานข่าวของช่องดังกล่าว เมื่อเป็นรายงานเกี่ยวกับการประท้วงในประเทศไทย นอกจากนั้น ทางการไทยยังปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ Change.org ที่เปิดให้คนลงชื่อในจดหมายประท้วง หลังมีการจัดทำจดหมายให้คนลงชื่อ เรียกร้องทางการเยอรมนีให้ประกาศให้กษัตริย์วชิราลงกรณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ
 
รัฐบาลแสดงความเป็นปรปักษ์มากขึ้นต่อการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ทางการยุติการคุกคามประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก การประท้วงบางส่วนยังรวมถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปเพื่อจำกัดพระราชอำนาจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามี ผู้ประท้วงอย่างน้อย 81 คน ถูกจับนับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ  แต่ทางการไทยมักเซ็นเซอร์และออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมการอภิปรายของสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจากรัฐหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาอาญาร้ายแรง รวมทั้งยุยงปลุกปั่น ความผิดด้านคอมพิวเตอร์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นผลจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ

นอกจากนั้น ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา ทางการไทยยังใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้าง เพื่อสั่งห้ามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและเพื่อคุกคามนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย    
 
“รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและองค์การสหประชาชาติ ควรประกาศข้อเรียกร้องอย่างเปิดเผย ให้รัฐบาลไทยยุติการเซ็นเซอร์และการปราบปรามทางการเมืองโดยทันที” อดัมส์กล่าว “นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ควรยกเลิกคำสั่งปิดกั้นวอยซ์ทีวีโดยทันที และยุติการดำเนินงานเพิ่มเติมใด ๆ เพื่อปิดกั้นเสรีภาพสื่อ และการแสดงความเห็นอย่างเสรีในประเทศไทย”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.