Skip to main content

ประเทศไทย: ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

มีการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างไม่จำเป็น ทำให้มีรายงานผู้บาดเจ็บ 55 คน

Democracy demonstrators take cover with inflatable ducks and umbrellas as police use water cannons during a protest rally near the parliament in Bangkok, November 17, 2020.  © 2020 AP Photo/Wason Wanichakorn

(กรุงเทพฯ) –ตำรวจไทยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างไม่จำเป็น ต่อผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบด้านนอกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ถือเป็นการละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

เมื่อเวลาประมาณ 14.25 น. ตำรวจพยายามขัดขวางการประท้วงของคณะราษฎร ไม่ให้พวกเขาสามารถเดินทางไปถึงด้านหน้ารัฐสภาได้ ในระหว่างมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ฮิวแมนไรท์วอทช์สังเกตเห็นตำรวจหน่วยปราบจลาจลใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมด้วยสีน้ำเงิน และดูเหมือนจะมีการผสมสารเคมีจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งการยิงกระสุนแก๊สน้ำตาและการฉีดสเปรย์พริก เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคน ซึ่งหลายคนเป็นนักศึกษา การสลายการชุมนุมดำเนินต่อไปจนการประท้วงยุติลงเมื่อเวลาประมาณสามทุ่ม การประท้วงในวันที่ 18 พฤศจิกายนดำเนินต่อไปโดยไม่มีความรุนแรง 

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน โฆษกของนายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ “แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ [สิทธิมนุษยชน] ในประเทศไทย....โดยระบุว่านับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่เห็นการใช้อาวุธที่อาจไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องกับผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และประกันให้มีการคุ้มครองอย่างเต็มที่ต่อประชาชนทุกคนในประเทศไทย ซึ่งใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการประท้วงอย่างสงบ....”

“ทางการไทยควรรับฟังความเห็นของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และยุติการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นต่อผู้ประท้วง พร้อมกับขัดขวางไม่ให้กลุ่มใดก่อความรุนแรง จนทำให้ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการไทยควรสอบสวนเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ยิงปืน และให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบ โดยไม่คำนึงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมืองระดับใด”

มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสูดดมแก๊สน้ำตา ตามข้อมูลของ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหกคน ซึ่งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ระหว่างการปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ใกล้กับจุดที่มีการประท้วง

รัฐบาลไทยควรสอบสวนทุกแง่มุมของเหตุความรุนแรงในวันที่ 17 พฤศจิกายน อย่างโปร่งใสและไม่ลำเอียง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ทั้งนี้รวมถึงการสอบสวนถึงพฤติการณ์และกระบวนการตัดสินใจ อันเป็นเหตุให้ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างกว้างขวางต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ รัฐบาลไทยควรประกันว่า หลักเกณฑ์การใช้กำลังของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์

ตามหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังได้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การควบคุมฝูงชนที่ชอบด้วยกฎหมาย แนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ปี 2563 ว่าด้วยการใช้อาวุธที่รุนแรงไม่ถึงขั้นชีวิตเพื่อบังคับใช้กฎหมาย “ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงควรนำมาใช้ เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ กรณีที่มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะเกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง” นอกจากนั้น ไม่ควรเล็งปืนฉีดน้ำแรงดันสูง “ไปที่เป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระยะใกล้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการตาบอดอย่างถาวร หรืออาการบาดเจ็บที่รุนแรงน้อยกว่า กรณีที่บุคคลถูกกระแสน้ำฉีดใส่อย่างรุนแรง” สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงควรมีการใช้แก๊สน้ำตา เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายด้านกายภาพ และไม่ควรใช้เพื่อสลายการชุมนุมการชุมนุมที่ปลอดจากความรุนแรง

รัฐบาลไทยได้แสดง ความเป็นปรปักษ์มากขึ้นต่อการประท้วงเพื่อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และได้ขยายตัวไปทั่วประเทศ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การประท้วงในบางครั้งยังรวมถึงการเรียกร้องให้จำกัดพระราชอำนาจ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 90 คน ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย จากการจัดชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ นับแต่เดือนกรกฎาคม แกนนำผู้ประท้วงบางส่วนยังถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี จากการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองในปี 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบ แต่ทางการไทยมักออกกฎหมายเซนเซอร์และขัดขวางการอภิปรายของสาธารณะ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทางการยังดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหลายร้อยคน โดยใช้ข้อหาอาญาร้ายแรงรวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่น ความผิดด้านคอมพิวเตอร์ และความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อจัดการกับการแสดงความเห็นอย่างสงบ นอกจากนั้นในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ทางการได้ใช้มาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเดิมประกาศใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ได้นำมาใช้เพื่อควบคุมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและคุกคามนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย

“รัฐบาลไทยควรยุติการใช้กำลังตำรวจเพื่อปราบปรามการประท้วงอย่างสงบ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต่อไป” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องและองค์การสหประชาชาติ ควรกระตุ้นอย่างเปิดเผยให้รัฐบาลไทย ยุติการปราบปรามทางการเมือง และให้หันมาใช้แนวทางเจรจาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปแบบประชาธิปไตย”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.