Skip to main content

ประเทศไทย: แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวถูกขังระหว่างพิจารณาคดี

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมิชอบเพื่อปิดปากผู้วิจารณ์

นักกิจกรรม สมยศ พฤกษาเกษมสุข (ซ้าย),  พริษฐ์ ชิวารักษ์ (กลาง), และอานนท์ นำภา (ขวา) ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ, ประเทศไทย วันอ้งคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 © 2021 AP Photo/Sakchai Lalit

(นิวยอร์ก) –ศาลอาญา กรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวแกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสี่คน และสั่งให้ขังระหว่างพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ คำสั่งดังกล่าวอาจส่งผลให้พวกเขาถูกคุมขังเป็นเวลาหลายปี จนกว่าการพิจารณาจะสิ้นสุดลง

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานอัยการมีความเห็นให้สั่งฟ้องอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จากการละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปราศรัยบนเวทีในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 จำเลยแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี หากศาลเห็นว่ามีความผิด พวกเขายังถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

“ทางการรับมือกับการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ ด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีโทษรุนแรงของประเทศไทย อย่างมิชอบ เพื่อเร่งปราบปรามความเห็นที่พวกเขาไม่ชอบ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การสั่งขังระหว่างพิจารณาคดีในกรณีที่เป็นการแสดงความเห็นอย่างสงบ เป็นสัญญาณบ่งบอกการกลับไปสู่ยุคมืด ซึ่งประชาชนอาจถูกดำเนินคดีอาญาเช่นนี้ และต้องติดคุกหลายปี ระหว่างรอการพิจารณาที่ยืดเยื้อไปอย่างไม่สิ้นสุด”

การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีจุดสิ้นสุด ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว หลังงดเว้นการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเวลาเกือบสามปี ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาสั่งการ ให้หน่วยงานไทยนำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับมาใช้ใหม่ เพื่อตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในบรรดากลุ่มนักเรียนนักศึกษาผู้ประท้วง ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตย นับจากนั้นมา ทางการได้ดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 58 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สืบเนื่องจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย จากที่เป็นมาในอดีตจะเห็นว่าทางการไทย โดยเฉพาะตำรวจ มักไม่ปฏิเสธที่จะดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ว่าจะมีความคลุมเครืออย่างไร เนื่องจากกลัวจะถูกมองว่าไม่จงรักภักดี

ในแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีที่ทางในสังคมประชาธิปไตย ทั้งยังแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มขึ้นนับแต่เดือนพฤศจิกายน และ บทลงโทษจำคุกที่รุนแรง ต่อจำเลยบางคน รวมทั้งกรณีการสั่งจำคุกเป็นเวลา 87 ปี (ลดโทษเหลือ 43 ปีเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ) เมื่อวันที่ 19 มกราคม โดยเป็นการลงโทษต่ออัญชัญ ปรีเลิศ ข้าราชการเกษียณ หากไม่มีการลดโทษ อัญชัญซึ่งปัจจุบันอายุ 65 ปี น่าจะต้องจบชีวิตลงระหว่างอยู่ในเรือนจำ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว คำตัดสินเช่นนี้สร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง สนับสนุนให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญา โดยข้อ 9 ระบุว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี” บุคคลที่ไม่ได้รับการประกันตัว ต้องเข้าสู่การพิจารณาที่รวดเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

กติกา ICCPR คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก ความเห็นทั่วไปที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ดูแลการปฏิบัติตามกติกานี้ระบุว่า กฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ “ไม่ควรกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงกว่าคดีอื่น เพียงเพราะอัตลักษณ์ของบุคคลที่อาจถูกละเมิด” และรัฐบาล “ไม่ควรห้ามการวิจารณ์สถาบันต่าง ๆ”  

“รัฐบาลไทยควรตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้วิจารณ์และผู้ประท้วง แทนที่จะจับพวกเขาขังคุกเป็นเวลานาน ก่อนจะได้รับการพิจารณาคดีในข้อหาที่คลุมเครือ” อดัมส์กล่าว “ทางการควรยุติการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเข้มงวดโดยทันที และหาทางเจรจากับผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติและบุคคลอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีเนื้อหาสอดคล้องตามพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.